ปลัดมท. ถกเเนวทางสร้างสถานบำบัดฟื้นฟู ยกโมเดลวัดถ้ำกระบอก สระบุรี ขยายผลบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่วัดถ้ำกระบอก ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เพื่อหารือแนวทางการจัดตั้งสถานบำบัดรักษา ฟื้นฟู ในการลดจำนวนผู้เสพยาเสพติด โดยได้รับความเมตตาจาก พระอาจารย์บุญส่ง ฐานจาโร ประธานมูลนิธิถ้ำกระบอก ร่วมให้คำปรึกษาแนะนำ โดยมีผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการในพื้นที่ร่วมหารือ อาทิ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี นายพลวรรธน์ เทียนชัยมงคล ปลัดจังหวัดสระบุรี ปลัดอำเภอพระพุทธบาท และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการทำสงครามกับยาเสพติด ซึ่งตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้สั่งการให้ทุกกลไกเพิ่มระดับความเข้มข้นเเละมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการปราบปราม ด้วยการนำตัวผู้ค้าผู้เสพมาดำเนินคดีตามกฎหมาย มาตรการป้องกันและจัดระเบียบสังคม ด้วยการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เเละสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ เด็ก เยาวชน และกลุ่มเสี่ยงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และ มาตรการบำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ผู้เคยหลงผิดกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เเละเป็นการคืนคนดีกลับสู่อ้อมอกอ้อมใจของพ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน และสังคม

ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน จึงได้สั่งการให้กรมการปกครอง Re X-Ray สำรวจตัวเลขผู้ค้าผู้เสพทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งได้ทำเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมโดยมีตัวเลขผู้ค้าประมาณ 18,000 ราย และผู้เสพ ประมาณ 120,000 ราย พร้อมทั้งได้ดำเนินการสำรวจค้นหาสถานที่ที่จะก่อตั้งเป็นสถานบำบัดรักษา ฟื้นฟูดูเเล ผู้เสพยาเสพติด ที่มีพื้นที่บริเวณรั้วรอบขอบชิด มีสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคที่ถูกสุขลักษณะ และอยู่ในพื้นที่อำเภอ ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 158 แห่งแล้ว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กลไกในระดับพื้นที่ เเละทุกภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน มีส่วนสำคัญต่อการป้องกันภัยจากยาเสพติด ซึ่งจำเป็นจะต้องจับมือร่วมกันสร้างการรับรู้ และทำให้สังตมตระหนักถึงพิษภัยจากยาเสพติด ทั้งในโรงเรียน สถานประกอบการ โรงงาน ฯลฯ ควบคู่กับการลงพื้นที่ การตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดกั้น เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เเละส่วนที่สาม คือ “การติดตาม” โดยเราจะทอดทิ้งผู้ได้รับการบำบัดแล้วไม่ได้ โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ต้องลงไปให้กำลังใจครอบครัวและผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ให้มีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง ดูแลไม่ให้ห่าง เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และขยายผลต่อเนื่องด้วยการสร้างเครือข่าย ทำให้มีรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิต ซึ่งจะทำให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดยาเสพติด 100% เป็นการป้องกันเหตุความรุนเเรง เหตุสะเทือนขวัญต่าง ๆ ที่มีผู้ป่วยยาเสพติดมีอาการคลุ้มคลั่งทำร้ายผู้อื่น หรือก่อเหตุที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง สำหรับแนวทางการจัดตั้งสถานบำบัดฟื้นฟูนั้น โดยเฉพาะการฝึกอาชีพได้มีการกำหนดหลักสูตร ภายใต้เเนวคิด เน้นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูเเละฝึกอาชีพ ได้ได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักการดูเเลดิน การเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช การปลูกผักสวนครัว การ น้อมนำพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” มาใช้ การเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงไส้เดือน การทำอาหาร การทำขนม การนำสินค้าเกษตรไปขาย และเเปรรูป ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นคงทางด้านอาหารเเม้ไม่มีอาชีพเเต่ก็สามารถดำรงชีพได้ ซึ่งกลไกที่กรมการปกครองเสนอมาจะมีขั้นตอนการตรวจเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจผู้ผ่านกระบวนการฟื้นฟู ให้มีโอกาสได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่ทำ เเละเกิดการรวมกลุ่มเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเวทีขยายผลสู่การเป็นกำลังหลักในการนำอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองมาเล่าสู่เด็ก เเละเยาวชนเพื่อไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

ทั้งนี้ในวันที่ 8 มกราคม 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ เป็นวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งพระองค์จะมีพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจที่จะน้อมนำพระดำริ “การสร้างหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” โดยได้รับเเรงบันดาลใจจากหนังสือ Sustainable City ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนครอบคลุมครบทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ให้ครบทุกครัวเรือน พร้อมกับการทำให้คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืนแก่ชุมชน

“เราในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต การเเก้ไขปัญหาความยากจน ความมั่นคง ความสงบสุข ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การเเก้ไขปัญหาสิ่งเเวดล้อม และการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ขนบทำเนียบประเพณี รวมถึงด้านอื่น ๆ เพื่อให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเสริมความเเข็งแรงให้กับทุกตำบล ควบคู่กับการมีสถานบำบัดรักษา ฟื้นฟู ผู้ป่วยยาเสพติดที่เป็นกลไกเชิงโครงสร้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเเนวทาง ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม อันเป็นการแก้ไขในสิ่งผิด และเป็นการ Change for Good ให้กับสังคมไทย เพื่อส่งมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยทุกคนเเละครอบครัวของผู้ป่วยยาเสพติด คืนคนดีสู่สังคม ทำให้คนที่หลงผิด มีความเข้มเเข็ง เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป

ด้านนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองได้สั่งการเพิ่มเติมให้ทุกอำเภอจัดหาสถานที่บำบัดรักษา และฟื้นฟู อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เพื่อเตรียมการสำหรับการนำผู้เสพยาเสพติดในเบื้องต้นประมาณ 120,000 คน เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ซึ่งท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้ จัดการบำบัดรักษา จำนวน 15 วัน สถานที่ละไม่เกิน 50 ราย พร้อมกัน 878 แห่ง ซึ่งจะได้รุ่นละประมาณ 43,900 คน และจะดำเนินการจัดอบรมต่อเนื่องทั้งหมด 3 รุ่น นอกจากนี้เเต่ละพื้นที่ได้เเต่งตั้งกลไกในระดับพื้นที่ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเพื่อที่จะขับเคลื่อนตามแนวทางข้างต้นเเล้ว โดยในขณะนี้ กรมการปกครองได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (งบกลาง) จากรัฐบาล ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกรมการปกครองพร้อมดำเนินการทันที

พระอาจารย์ บุญส่ง ฐานจาโร ประธานมูลนิธิถ้ำกระบอก กล่าวว่า กุญเเจสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยยาเสพติดสามารถกลับกลายเป็นคนปกติได้ มีปัจจัยหลักอยู่ 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางด้านร่างกาย ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าสารเสพติด ส่งผลเสียต่อร่างกายโดยตรง โดยเฉพาะระบบประสาท ในสถานบำบัดรักษา วัดถ้ำกระบอกจึงต้องใช้ยาน้ำซึ่งผสมจากสมุนไพร เรียกว่า ยาขับพิษ และยาครอบจักรวาล ให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดดื่มวันละ 4 ครั้งภายหลังจากการทำกิจกรรม ซึ่งจะต้องมีการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อม ยังสามารถกระตุ้นฮอร์โมนในร่างกายได้หลายชนิด เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ฮอร์โมนที่สำคัญต่อการซ่อมแซมและเสริมสร้างร่างกาย เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า เสริมสร้างกล้ามเนื้อ อินซูลิน และไทรอยด์ฮอร์โมน (Insulin and Thyroid Hormone) ฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลและกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย นอกจากนั้นการออกกำลังกาย ยังสามารถกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข เช่น โดพามีน (Dopamine) ฮอร์โมนทำให้รู้สึกดี เซโรโทนิน (Serotonin) ฮอร์โมนที่ลดอาการซึมเศร้า เอนดอร์ฟิน (Endorphin) ฮอร์โมนแห่งความสุขที่สามารถลดอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อและลดอาการบาดเจ็บได้ เพราะมีโครงสร้างทางเคมีบางส่วน คล้ายมอร์ฟีนที่เป็นยาแก้ปวด ปัจจัยต่อมา คือ ด้านสภาพจิตใจ คือต้องทำให้ผู้ป่วยได้ตระหนักถึงคุณค่าในการใช้ชีวิต ได้เห็นถึงความรักความห่วงใยจากครอบครัว และเป้าหมายในการเปลี่ยนเเปลงเป็นคนดีที่ไม่หันไปพึ่งยาเสพติด โดยในด้านจิตใจนี้สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ผู้ป่วยถือสัจจะต่อตนเอง เเละให้เคารพตัวเอง ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันต่อยาเสพติดที่ดีที่สุด

พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ในด้าน “การปราบปราม” ฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยบูรณาการกำลังเร่งกวาดล้างจับกุมอย่างเต็มที่ ซึ่งในส่วนของจังหวัดสระบุรีช่วงที่ผ่านมาสามารถจับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้กว่า 50 คดีแล้ว แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของเราไม่ได้เพิกเฉย ในขณะเดียวกันสิ่งสำคัญ คือ “พี่น้องประชาชน” ต้องช่วยสอดส่องดูเเลในพื้นที่ หากพบเบาะเเส หรือ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขอให้รีบเเจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สายด่วน 191 หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 นอกจากนี้เจ้าหน้าตำรวจอยู่ระหว่างศึกษาเเนวทาง 1 ตำรวจ 1 ตำบล ที่มีหน้าที่ในการดูเเลพี่น้องประชาชนหากมีเหตุภัยเจ้าหน้าตำรวจจะได้พร้อมเข้าพื้นที่เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกับฝ่ายปกครอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *